วันพฤหัสบดีที่ 4 พฤศจิกายน พ.ศ. 2553

ความสำคัญของหลักการบริหารจัดการที่ดีกับการบริหารจัดการศึกษา


            การบริหารจัดการศึกษานั้น จำเป็นต้องดำเนินการตามหลักการหรือแนวทางธรรมาภิบาล จึงจะเป็นการบริหารจัดการที่ดีและสอดคล้องกับแนวโน้ม สภาพ ปัญหา และความต้องการในยุคโลกาภิวัตน์ นำไปสู่ประสิทธิภาพและประสิทธิผลขององค์กรหรือหน่วยงาน และเป็นหลักประกันความสำเร็จในการบริหารจัดการ ทั้งนี้เพราะ ธรรมาภิบาล เป็นการบริหารจัดการที่ดี สามารถสร้างประโยชน์และความเป็นธรรมต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ซึ่งการบริหารจัดการศึกษาตามบทบัญญัติของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มีสาระสำคัญบางส่วน ดังนี้(สนธิรัก เทพเรณู, อรพินธ์ สอนสลับ, ประสิทธิ์ สาหร่ายสุวรรณ 2548: 35)
                1.  กระทรวงมีอำนาจหน้าที่เกี่ยวกับการส่งเสริมและกำกับดูแลการศึกษาทุกระดับและทุกประเภท กำหนดนโยบาย แผนและมาตรฐานการศึกษา สนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา ส่งเสริมและประสานงานการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรมและการกีฬาเพื่อการศึกษา รวมทั้งการติดตาม ตรวจสอบและประเมินผลการจัดการศึกษาและราชการอื่นตามที่กฎหมายกำหนดให้เป็นอำนาจหน้าที่ของกระทรวงหรือส่วนราชการที่สังกัดกระทรวง
                2.  การจัดระเบียบบริหารราชการในกระทรวงให้มีองค์กรหลักที่เป็นคณะบุคคลในรูปสภาหรือในรูปคณะกรรมการจำนวน 4 องค์กร ได้แก่ สภาการศึกษา คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน คณะกรรมการการอาชีวะศึกษา และคณะกรรมการการอุดมศึกษา เพื่อพิจารณาให้ความเห็น หรือให้คำแนะนำแก่รัฐมนตรี และมีอำนาจหน้าที่อื่นตามกฎหมายกำหนด
                3.  สภาการศึกษา มีหน้าที่
                    3.1  พิจารณาเสนอแผนการศึกษาแห่งชาติที่บูรณาการศาสนา ศิลปะ วัฒนธรรม และกีฬากับการศึกษาทุกระดับ
                    3.2  พิจารณาเสนอนโยบาย แผน และมาตรฐานการศึกษาเพื่อดำเนินการให้เป็นไปตามแผน
                    3.3  พิจารณาและเสนอนโยบายและแผนสนับสนุนทรัพยากรเพื่อการศึกษา
                   3.4  ดำเนินการประเมินผลการจัดการศึกษา
                   3.5  ให้ความเห็นหรือคำแนะนำเกี่ยวกับกฎหมายและกฎกระทรวง
                4.  คณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่ พิจารณาเสนอนโยบาย แผนพัฒนา มาตรฐานและหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐานที่สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และแผนพัฒนาการศึกษาแห่งชาติ การสนับสนุนทรัพยากร ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน
                5.  ให้กระทรวงกระจายอำนาจการบริหารและการจัดการศึกษา ทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารงานบุคคลและการบริหารทั่วไปไปยังคณะกรรมการ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด
                ใน พระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกระทรวงศึกษาธิการ พ.ศ. 2546มาตรา 35 บัญญัติไว้ว่า สถานศึกษาที่จัดการศึกษาขั้นพื้นฐานตามมาตรา 34(2) เฉพาะที่เป็นโรงเรียนของรัฐ มีฐานะเป็นนิติบุคคล เมื่อมีการยุบเลิกสถานศึกษาตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นนิติบุคคลสิ้นสุดลง ในความเป็นนิติบุคคลของโรงเรียน การบริหารจัดการจะเป็นไปด้วยดี มีประสิทธิผลและประสิทธิภาพ จำเป็นต้องอาศัยหลักการของธรรมาภิบาล ซึ่งการใช้ธรรมาภิบาลในโรงเรียนที่เป็นนิติบุคคลนั้น จำเป็นต้องอาศัยผู้บริหารที่มีภาวะผู้นำที่เหมาะสม และมีแนวทางการบริหารจัดการโรงเรียนที่สอดคล้องกับการปฏิรูประบบราชการและการปฏิรูปการศึกษา ดังนั้นผู้บริหารโรงเรียน ควรมีคุณสมบัติหลายอย่าง เช่น มีคุณวุฒิด้านการบริหารจัดการศึกษา มีใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ผ่านการฝึกอบรมในหลักสูตรที่องค์กรวิชาชีพรับรอง มีมาตรฐานวิชาชีพ มีคุณธรรมจริยธรรม (ธีระ รุญเจริญ 2550: 184) 
                สำหรับสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา  ได้พัฒนาเกณฑ์มาตรฐานการบริหารโรงเรียน ไว้ 3 ด้าน คือ 1.  ด้านการกระจายอำนาจ 2.  ด้านการบริหารแบบมีส่วนร่วม และ 3. ด้านการบริหารจัดการที่ดี ในที่นี้ขอกล่าวเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับมาตรฐานด้านการบริหารจัดการโรงเรียนที่ดี ดังนี้
                มาตรฐานด้านการบริหารจัดการที่ดี
                มาตรฐานที่ 7 สถานศึกษามีระบบการบริหารและการจัดการศึกษาที่สอดคล้องกับจุดมุ่งหมายของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ
ตัวบ่งชี้
                1. สถานศึกษามีระบบการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ การบริหารบุคคล และการบริหารทั่วไปที่มุ่งเน้นสิทธิและประโยชน์สูงสุดของผู้เรียนเป็นสำคัญ
                2. สถานศึกษามีระบบการบริหารภายในที่เน้นการกระจายอำนาจการตัดสินใจ เพื่อการมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องและประสิทธิภาพในการบริหาร
                3. สถานศึกษามีวัฒนธรรมการทำงานเป็นทีมและองค์กรแห่งการเรียนรู้
มาตรฐานที่ 8 สถานศึกษามีระบบบริหารและจัดการศึกษาที่ยึดหลักธรรมาภิบาล เพื่อมุ่งประโยชน์ของผู้เรียนเป็นสำคัญ
                ตัวบ่งชี้
                1. สถานศึกษามีระบบการประกันคุณภาพภายในที่พร้อมรับการประเมินภายนอก และการตรวจสอบจากชุมชน
                2. สถานศึกษามีระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารที่มีฐานข้อมูลในการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร และการบริหารทั่วไปที่มีประสิทธิภาพ
                มาตรฐานที่ 9 สถานศึกษามีระบบการบริหารและจัดการศึกษาที่พร้อมรับการตรวจสอบคุณภาพและประสิทธิภาพ
                ตัวบ่งชี้
                1. สถานศึกษามีระบบการประกันคุณภาพภายในที่พร้อมรับการประเมินภายนอก และการตรวจสอบจากชุมชน
                2. สถานศึกษามีระบบสารสนเทศเพื่อการบริหารที่มีฐานข้อมูลในการบริหารทั้งด้านวิชาการ งบประมาณ บุคลากร และการบริหารทั่วไปที่มีประสิทธิภาพ
                ผู้บริหารโรงเรียนในฐานะผู้นำในการบริหารจัดการศึกษา นั้นต้องใช้หลักธรรมาภิบาลมาเป็นแนวทางในการบริหาร ซึ่งสถานศึกษานับเป็นองค์กรหลักที่สำคัญยิ่งในสังคมที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปให้มีการบริหารจัดการที่ดีกว่าเดิม เพื่อให้การดำเนินการตามมาตรฐานด้านการจัดการศึกษาที่มุ่งให้ผู้เรียนเป็นคนดี คนเก่ง และมีความสุข   สอดคล้องกับสถานการณ์ทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ในปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
                                                                                                                                                                                                  












               

มารู้จัก Good Governance กันดีกว่า

 ความเป็นมา
     ในช่วงต้น พ.. 2523 นักวิชาการส่วนใหญ่ต่างเห็นพ้องกันว่าแนวทางการบริหารภาครัฐที่เป็นอยู่ไม่สอดคล้องกับเศรษฐกิจและสังคมโลกที่ปรับเปลี่ยนตลอดเวลา และมีความจำเป็นต้องมีการปฏิรูปและปรับปรุงรูปแบบการปกครองใหม่ ในช่วงเวลาดังกล่าวมีองค์กรระหว่างประเทศที่สำคัญ ๆ เช่น ธนาคารโลก(World Bank) และ กองทุนนานาชาติ ได้เข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนและพัฒนาแนวคิดเกี่ยวกับการปกครองที่ดี หรือที่เรียกกันทั่วไปว่า “Good Governance” หรือธรรมาภิบาล  (บุษบง  ชัยเจริญวัฒนะ 2546)  ประเทศไทยมีความตื่นตัวสนใจเรื่องธรรมาภิบาลอย่างมาก  โดยเฉพาะภายหลังการบังคับใช้รัฐธรรมนูญปี พ.ศ. 2540  นอกจากนี้วิกฤตเศรษฐกิจก็มีส่วนทำให้ความสนใจเกี่ยวกับธรรมาภิบาลมีมากยิ่งขึ้น  เป็นที่เชื่อกันว่าหากประเทศไทยนำหลักธรรมาภิบาลไปปรับใช้กับการปฏิบัติงานภาคราชการ  เอกชน  และประชาชนแล้ว  จะทำให้ประเทศมีพัฒนาไปในทิศทางที่ดี  เกิดความเป็นธรรมในด้านสังคม  เศรษฐกิจ  และการเมือง
                     จากสภาพดังกล่าวทำให้ส่งผลกระทบต่อระบบราชการและระบบการจัดการศึกษาที่จำเป็นต้องพัฒนาให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง  ซึ่งเป้าหมายของการพัฒนาคือ  เพื่อประโยชน์สุขของประชาชนและเยาวชนที่เป็นกำลังสำคัญของประเทศชาติ  ทำให้เกิดการกระจายอำนาจไปยังหน่วยปฏิบัติในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา  โดยประชาชนและผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการ  ตามพระราชบัญญัติบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534  แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่ 9)  พ.ศ. 2545  และพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการบริหารจัดการที่ดี พ.ศ. 2546  เพื่อให้การบริหารราชการมีประสิทธิภาพ  ลดขั้นตอนการปฏิบัติงานที่เกินจำเป็น  ในส่วนของการบริหารจัดการศึกษาจะต้องดำเนินการให้สอดคล้องกับการพัฒนาระบบราชการ  โดยพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2545  กำหนดให้การบริหารจัดการศึกษายึดหลักการมีเอกภาพด้านนโยบายและความหลากหลายในการปฏิบัติเป็นไปตามหลักการพัฒนาระบบราชการ ซึ่งการบริหารกิจการบ้านเมืองที่ดีได้แก่  การบริหารราชการเพื่อบรรลุเป้าหมายดังต่อไปนี้
1. เกิดประโยชน์สุขของประชาชน
2.  เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ
3.  มีประสิทธิภาพและเกิดความคุมค่าในเชิงภารกิจของรัฐ
4.  ไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น
5.  มีการปรับปรุงภารกิจของส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
6.  ประชาชนได้รับการอำนวยความสะดวกและได้รับการตอบสนองความต้องการ
7.  มีการประเมินผลการปฏิบัติราชการอย่างสม่ำเสมอ
ซึ่งยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบราชการประกอบด้วย
                    1. สร้างรากฐานของสังคมให้เข้มแข็ง  จากการพัฒนาคุณภาพคน  คุ้มครองทางสังคมปรับปรุงโครงสร้างการพัฒนาชุมชนอย่างต่อเนื่องยั่งยืน  และจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
                    2.  ปฏิรูประบบบริหารจัดการสู่ธรรมาภิบาล  โดยการบริหารจัดการให้เกิด
ธรรมาภิบาลทุกภาคส่วนของสังคม
                     3.  ปรับตัวสู่เศรษฐกิจยุคใหม่  รู้เท่าทันโลก  พึ่งตนเองได้  โดยการจัดการระบบบริหารเศรษฐกิจส่วนรวม  เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศและพัฒนาความเข้มแข็งทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
                     จากข้างต้นสรุปได้ว่า  การปฏิรูประบบราชการมีเป้าหมายคือ เพื่อบริการให้ประชาชนมีความพึงพอใจในบริการของภาครัฐมากขึ้น โดยให้ทุกกระทรวง ทบวง กรมและส่วนราชการถือหลักธรรมาภิบาลหรือหลักบริหารจัดการที่ดีมาปฏิบัติ  สำหรับกระทรวงศึกษาธิการมีการกระจายอำนาจการบริหารไปยังหน่วยปฏิบัติในระดับจังหวัดและเขตพื้นที่การศึกษา  โดยประชาชนและผู้รับบริการมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการทั้งนี้เพื่อให้เกิดประโยชน์สุขแก่เยาวชนที่จะเป็นกำลังของประเทศชาติต่อไป 

 ความหมาย

                         สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (2541)  ได้อธิบายว่า ธรรมาภิบาล เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นจากคำว่า ธรรม  ซึ่งแปลว่า  ความดี  หรือ กฎเกณฑ์  ส่วนคำว่า อภิบาล  แปลว่า  บำรุงรักษา  ปกครอง  เมื่อรวมกันก็กลายเป็น ธรรมาภิบาล  ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า Good Governance
                                ในการปฏิรูประบบราชการที่เน้นให้ทุกภาคส่วนมีการบริหารจัดการโดยใช้หลักธรรมาภิบาลนั้นทำให้  คำว่า ธรรมาภิบาล หรือ Good Governance มีผู้ใช้ที่แตกต่างกันแต่มีความหมายคล้ายคลึงกันหลายคำ เช่น  ธรรมรัฐ  สุประศาสนการ  ธรรมราษฎร์  ประชารัฐ  การกำกับดูแลที่ดี  รัฐาภิบาล  การปกครองที่ดี  กลไกประชารัฐที่ดี การบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ซึ่งทั้งหมดนี้คือ Good Governance  โดยเฉพาะวงวิชาการตะวันตกที่ใช้คำนี้กันอย่างกว้างขวาง และมีผู้ให้ความหมายของธรรมาภิบาลไว้หลากหลายความหมาย  ดังต่อไปนี้
                                ธนาคารโลกหรือ  World Bank ให้ความหมายของธรรมาภิบาลไว้ว่า  เป็นลักษณะวิถีทางที่การใช้อำนาจรัฐได้ถูกใช้ในการจัดการทรัพยากรทางเศรษฐกิจและสังคมของประเทศเพื่อการพัฒนา (ประสิทธิ์  ดำรงชัย  อ้างถึงใน สายสมร  ศักดิ์คำดวง  2551: 29)
                                องค์การสหประชาชาติ  หรือ  United Nation (UN)  ให้ความสำคัญกับ
ธรรมาภิบาลเพราะเป็นหลักการพื้นฐานในการสร้างความเป็นอยู่ของคนในสังคมทุกประเทศให้มีการพัฒนาที่เท่าเทียมกันและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น  การดำเนินการนี้ต้องเกิดจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน  เพื่อกระจายอำนาจให้เกิดความโปร่งใส  ธรรมาภิบาลคือการมีส่วนร่วมของประชาชน  และสังคมอย่างเท่าเทียมกัน  และมีคำตอบพร้อมเหตุผลที่สามารถชี้แจงกันได้ 
                                โคฟี่ อัลนัน  เลขาธิการองค์การสหประชาชาติในบทความ  Governance ;  Good Governance  and  Global Governance  :  conceptual  and  actual  challenges  (Weiss,  2000)  ให้ความเห็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลว่า  เป็นแนวทางการบริหารงานภาครัฐที่เป็นการก่อให้เกิดการเคารพสิทธิมนุษยชน  หลักนิติธรรม  เสริมสร้างประชาธิปไตย  มีความโปร่งใส  และเพิ่มประสิทธิภาพ
                                ในประเทศไทยได้มีองค์กรที่เกี่ยวข้องและบุคคลที่สนใจเกี่ยวกับธรรมภิบาลให้ความหมายของคำว่า  ธรรมาภิบาล ไว้ดังนี้
                                ชัยอนันต์ สมุทวณิช (2541: 15-16) ให้ความหมายของ Good Governance ว่า การที่กลไกของรัฐ ทั้งการเมืองและการบริหารมีความแข็งแกร่ง มีประสิทธิภาพ สะอาด โปร่งใส รับผิดชอบ จะเป็นไปได้เมื่อชนในชาติเรียนรู้ที่จะปกครองตนเอง และปกครองกันเองได้ รัฐมีบทบาทและอำนาจบังคับน้อยที่สุด โดยสงวนอำนาจไว้ในเรื่องระดับชาติและระดับสากลเท่านั้น แต่ในระดับชุมชนท้องถิ่นมีการมอบอำนาจให้ประชาชนดำเนินการและกระจายอำนาจอย่างทั่วถึง ทั้งระหว่างองค์กรของรัฐเองและระหว่างองค์กรของรัฐกับภาคเอกชนและภาคประชาชน
                                ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการสร้างระบบบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดี พ.ศ. 2542ได้นิยาม  การบริหารกิจการบ้านเมืองและสังคมที่ดีว่า เป็นแนวทางสำคัญในการจัดระเบียบให้สังคมภาครัฐ  ภาคธุรกิจเอกชนและภาคประชาชน ซึ่งครอบคลุมถึงฝ่ายวิชาการ  ฝ่ายปฏิบัติการ  ฝ่ายราชการและฝ่ายธุรกิจสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข  มีความรู้รักสามัคคีและร่วมเป็นพลังก่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน  และเป็นส่วนเสริมความเข้มแข็งหรือสร้างภูมิคุ้มกันแก่ประเทศเพื่อบรรเทา  ป้องกัน  หรือเยียวยาภาวะวิกฤตภยันตรายที่หากจะมีมาในอนาคต เพราะสังคมจะรู้สึกถึงความยุติธรรม  ความโปร่งใส  และการมีส่วนร่วมอันเป็นคุณลักษณะสำคัญของศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์และการปกครองแบบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข สอดคล้องกับความเป็นไทย รัฐธรรมนูญและกระแสโลกยุคปัจจุบัน
                                วีระวัฒน์ ปันนิตามัย (2544: 228-229) ได้แสดงทัศนะว่า ธรรมาภิบาลหรือGood Governance นั้นสอดรับกับการเปลี่ยนแปลง เพื่อการพัฒนาที่ดีกว่าเดิม เพื่อความผาสุกของสังคม ขอบเขตการพัฒนานั้นกินความกว้าง ทำให้สามารถนำปรัชญาและหลักการของ Good Governance เข้าไปเชื่อมโยงได้ในทุกด้าน เช่น โยงเข้ากับการปฏิรูปการเมือง การสร้างความเป็นประชาธิปไตย การปฏิรูปด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ประสิทธิผลขององค์การ การบริหารเอกชน-ภาครัฐ สิทธิมนุษยชน บทบาทชาย-หญิง เป็นต้น
                                บุษบง ชัยเจริญวัฒนะ และคณะ(2546: 10) ให้ความหมายว่า ธรรมาภิบาลเป็นกลไก เครื่องมือ และแนวทางการดำเนินงานที่เชื่อมโยงกันในภาคเศรษฐกิจ สังคมและการเมือง โดยเน้นความจำเป็นของการสร้างความร่วมมือจากภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชน อย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อให้ประเทศมีพื้นฐานระบอบประชาธิปไตยที่เข้มแข็ง มีความชอบธรรมของกฎหมาย มีเสถียรภาพ มีโครงสร้างและกระบวนการบริหารที่มีประสิทธิภาพมีความโปร่งใส และ สามารถตรวจสอบได้ อันจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืน    
                                สนธิรัก  เทพเรณู  และคณะ (2548: 29) ให้ความหมายของ ธรรมาภิบาลหรือการบริหารจัดการบ้านเมืองที่ดี ว่า เป็นการบริหารราชการเพื่อให้บรรลุเป้าหมายให้เกิดประโยชน์สุขของประชาชน  เกิดผลสัมฤทธิ์ต่อภารกิจของรัฐ  มีประสิทธิภาพและเกิดความคุ้มค่าในเชิงภารกิจของรัฐไม่มีขั้นตอนการปฏิบัติงานเกินความจำเป็น  มีการปรับปรุงภารกิจส่วนราชการให้ทันต่อสถานการณ์
                                จากความหมายข้างต้นสรุปได้ว่า  การบริหารจัดการที่ดี  หรือ  ธรรมาภิบาล  หรือ  Good Governance หมายถึง การบริหารงานที่มุ่งเน้นหลักการระบบบริหารงานที่มีประสิทธิภาพเป็นหลัก  การทำงานที่เน้นความโปร่งใส  การมีส่วนร่วมของบุคคลในการทำงาน  ความรู้สึกสำนึกรับผิดชอบต่อการกระทำของตนเอง  ซึ่งหากนำมาใช้เพื่อการบริหารงานแล้ว  จะเกิดความเชื่อมั่นว่าจะนำมาซึ่งผลลัพธ์ที่ดีที่สุด